ถั่วลายเสือ ep.4 (กระบวนการปลูกถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน)

 
กระบวนการผลิต 

    กระบวนการปลูกถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน ฤดูกาลถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนส่วนใหญ่นิยมปลูก ถั่วลายเสือช่วงฤดูฝน และช่วงหลังการทำนา แบ่งได้ 3 ช่วง ได้แก่

1) ช่วงต้นฤดูฝนปลูกเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตถั่วลายเสือ เดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน

2) ช่วงปลายฤดูฝนปลูกเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน มีการเก็บเกี่ยวเก็บเกี่ยวผลผลิต ถั่วลายเสือเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม

3)ช่วงฤดูหลังจากการทำนามีการปลูกช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม มีการเก็บเกี่ยว ผลผลิตถั่วลายเสือเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งพื้นที่ปลูกถั่วลายเสือในปลูกช่วงฤดูหลังจากการทำนา ต้องอาศัยพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำหรือชลประทาน

การเตรียมเมล็ดพันธุ์

1. เมล็ดพันธุ์ถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน ต้องมาจากพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แก่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอปางมะผ้า อำเภอขุนยวม และอำเภอปาย และต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น หน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมวิชาการเกษตร ศูนย์เมล็ดพันธุ์ เป็นต้น หรือมาจากแหล่งการผลิตเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน

2. ลักษณะเมล็ดพันธุ์ มีเปอร์เซ็นต์การงอกมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดสมบูรณ์ ไม่มีโรคและแมลงทำลาย

3. มีการบันทึกข้อมูล แหล่งที่มา ของเมล็ดพันธุ์ถั่วลายเสือที่ใช้ในการผลิต ได้แก่ ราคา ปริมาณ วันเดือนปีที่จัดซื้อ หรือจัดเก็บ

การเตรียมดิน และการปลูก

1. แหล่งการผลิต ลักษณะของดินในการเพาะปลูกต้องเป็น ดินร่วน ดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนเหนียว มีค่า pH 5.5-6.8 ดินมีอินทรียวัตถุ(OM) ปานกลางถึงสูง หรือมากกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์

2. มีการเตรียมพื้นที่ให้เหมาะสม ทำให้ดินร่วนซุย โดยการขุดหรือไถ การไถควรไถและตากดินทิ้งไว้ 7-10 วันก่อนปลูก หากพื้นดินมีลักษณะร่วนซุยอยู่แล้วและมีวัชพืชน้อยไม่ต้องเตรียมดิน ทำการตัดหญ้าและขุดหลุมเตรียมหยอดเมล็ด หากใช้สารเคมีกำจัดหรือคุมวัชพืชก่อนปลูก ให้ใช้สารเคมีที่ได้รับ อนุญาตและใช้ให้ถูกต้องตามคำแนะนำบนฉลาก

3. พื้นที่ราบหากเป็นพื้นที่น้ำท่วมถึงต้องทำการยกร่องเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังควรยกร่อง กว้าง 60-100 เซนติเมตร ปลูกถั่วได้ 2 แถว หากดินระบายน้ำดีสามารถยกร่องกว้าง 150 เซนติเมตร ปลูกถั่วได้ 3-4 แถว

4. ระยะปลูก ควรเว้นระยะห่างระหว่างต้น 25x35 เซนติเมตร (ระยะห่างระหว่างต้น ประมาณ 25 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 35 เซนติเมตร) หรือเว้นระยะตามความเหมาะสมของ แต่ละพื้นที่

5. การหยอดเมล็ดลงหลุม ควรทำเป็นแถวยาว โดยหยอดหลุมละ 2-3 เมล็ด หลุมลึก 3-5 เซนติเมตร เมล็ดจะงอกภายใน 5-7 วัน หากต้องการปลูกซ่อมควรทำภายใน 7 วันหลังปลูก เพื่อต้นถั่วจะได้ เติบโตทันกันและเก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน

การดูแลรักษา

การให้น้ำปลูกในช่วงฤดูฝนใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูกสำหรับปลูกช่วงหลัง การทำนาให้น้ำทุก 7 วันในเดือนแรกหลังจากนั้นให้น้ำทุก 10 วัน ห้ามขาดน้ำช่วงถั่วอายุ 30-60 วันหลังงอกควรงดน้ำก่อนเก็บเกี่ยว 20 วัน 

การป้องกันและกำจัดวัชพืช มีหลายวิธี เช่น การตัด การถอน หรือการใช้สารเคมี การใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชต้องใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสม โดยใช้สารเคมีที่ได้รับการอนุญาต ให้ใช้เท่านั้น ใช้ถูกต้องตามคำแนะนำบนฉลาก

การใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยตามสภาพดิน เพื่อเป็นการเพิ่มธาตุอาหารและปรับปรุงคุณภาพของดิน อาจใช้วิธีไถดินพร้อมกับใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก หรือวัสดุปรับปรุงดิน หรือหลังจากพืชงอกใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือ ปุ๋ยเคมีตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

การเก็บเกี่ยว

ช่วงที่มีผลผลิตถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน คือ

ครั้งที่ 1   ช่วงต้นฤดูฝนเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน

ครั้งที่ 2   ช่วงปลายฤดูฝนเดือนพฤศจิกายนเดือนถึงธันวาคม

ครั้งที่ 3   ช่วงหลังฤดูหลังการทำนาเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม

 

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่า ถั่วแก่พร้อมที่จะทำการเก็บเกี่ยวได้หรือไม่นั้น มีดังนี้

1. ทำการเก็บเกี่ยวตามอายุ โดยถั่วลายเสือมีอายุการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 90-95 ฝักสด ฝักแห้ง 100- 120 วัน  แต่อายุการเก็บเกี่ยวถั่วนั้นสามารถแปรปรวนไปตามสภาพดินฟ้าอากาศ เช่น ถ้ามีอุณหภูมิต่ำหรือดินมีความชุ่มชื้นสูง จะทำให้ถั่วยืดอายุออกไปอีก ในทางตรงกันข้ามถ้าความชุ่มชื้นในดินน้อยถั่วลิสง ก็อาจจะถูกบังคับให้แก่เร็วกว่ากำหนดได้

2. การสุ่มตัวอย่าง ก่อนที่จะถึงเวลาเก็บเกี่ยวถั่วตามอายุประมาณ 1 สัปดาห์ ให้ทำการ สุ่มถอน ต้นถั่ว เพื่อดูการแก่ของฝัก ถ้าเห็นว่าฝักส่วนใหญ่แก่ก็ทำการถอนต้นได้ ถ้าฝักส่วนใหญ่ยังอ่อนอยู่ก็ทิ้ง ไว้ก่อนอีก 1 สัปดาห์ จึงทำการสุ่มถอนใหม่จนกว่าถั่วลิสงจะแก่พอทำการเก็บเกี่ยวได้ โดยมีวิธีสังเกตดังนี้

2.1 สังเกตจากสีเปลือกของฝัก จะสีออกน้ำตาล (เกษตรกรเรียกสีกะลามะพร้าว) หรือบีบฝักดู จะ มีลักษณะแน่น คือถั่วพร้อมเก็บเกี่ยว

2.2 สังเกตจากลายฝักจะเห็นขึ้นชัดเจน

2.3 สังเกตเมล็ด เมื่อแกะฝักดูจะเห็นสีลายขีดบนเมล็ดสีจะเข้ม

2. 4 ขั้ว ฝักจะไม่เหนียวคือ ฝัก ถั่ว ขณะยังไม่แก่ ขั้วจะเหนียวแน่นเมื่อฝักแก่แล้ว ขั้วจะบางและ ดึงจากต้นจะหลุดง่าย 

การปฏิบัติในการเก็บเกี่ยว

1. การถอนต้นถั่วเมื่อต้นถั่วแก่พร้อมที่จะทำการเก็บเกี่ยวได้แล้วให้ถอนต้นถั่วทีละหลุม ควรจะโยกโคนต้นก่อนแล้วดึงขึ้นมาช้าๆ

2. การปลิดฝักถั่วออกจากต้น มีวิธีการปฏิบัติได้หลายวิธี เช่น ใช้มือปลิดออกทันที หรือใช้วิธี ตีกับขอบถัง หรือปล่อยไว้ให้แห้งก่อนแล้วค่อยปลิด การปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งควรปล่อยทิ้งไว้อย่างน้อย 3-4 วัน

3. การตากฝักที่ปลิดออกมาควรจะตากให้แห้ง โดยผึ่งไว้บนลานคอนกรีต ควรรองด้วยผ้าใบ ผ้าพลาสติก หรือกระดาษ อย่าผึ่งไว้บนดินและไม่ควรจะเกลี่ยฝักให้หนาเกิน 10 เซนติเมตร ในสภาพที่มีแดด จัดเพื่อให้ฝักแห้งสม่ำเสมอ

4. การทดสอบความชื้น ความชื้นถั่วแห้งต้องไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ในกรณีไม่มีเครื่องวัด ความชื้นให้ใช้มือแกะดูฝักที่แห้งสนิทจะเปราะแตกออกจากกันได้ง่าย เมื่อกัดดูเมล็ดแห้งจะรู้สึกว่าแกร่งแตก กระจายออกจากกันหรือเมื่อเขย่าฝักแห้งจะได้ยินเสียงคลอนอย่างชัดเจน

การเก็บรักษาเมล็ดไว้เพื่อรอการจำหน่าย

1. เมื่อถั่วแห้งสนิทมีความชื้นไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ให้ทำการบรรจุภาชนะ เช่น กระสอบหรือ จะกองไว้ในโรงเก็บก็ได้เมื่อมั่นใจว่าถั่วลิสงแห้งสนิท

2. ควรจะเก็บถั่วลิสงไว้ทั้งฝักในที่โปร่ง มีอากาศถ่ายเทได้และในที่ร่มในกรณีที่ใช้กระสอบ บรรจุควรจะนำมาตากแดดทุก 3-4 สัปดาห์ส่วนในกรณีที่กองไว้ก็ควรจะมีการพลิกกลับเอาฝักด้านล่างขึ้น ข้างบนทุกๆ 3-4 สัปดาห์ เช่นกัน เพื่อไม่ให้มีการสะสมความร้อน

3. หมั่นตรวจดูอาจจะมีแมลง หนูหรือนกทำลายฝักถั่วได้

สนใจถั่วลายเสือ เพจ:ถั่วลายเสือตราฅนไต หรือค้นหาในช้อปปึ้ ลาซาด้า ได้เลยคร้า ไลน์ไอดี konetai ​ รับประกันความสดใหม่คั่ววันต่อวันไม่มีค้างสต็อค


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ถั่วลายเสือ ep.ุ6 ("ถั่วเสือซ่อนลาย" กับ "ถั่วลายเสือ" ต่างกันยังไง)

ถั่วลูกไก่ หรือถั่วชิกพี หรือถั่วหัวช้าง มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Chickpeas หรือ garbanzo beans